วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ประเด็นคดีฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่

กรณีแชร์ลูกโซ่และฉ้อโกงประชาชน
           1.  ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1 และ 12
           2.  ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 และ 343
           3.  ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง และดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ที่คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยดำเนินกิจการที่ไม่เป็นไปตามแผนการจ่ายตอบแทนของตนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 21, 46 และ 48
           4.  ร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5 และ 16  และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ข้อ 1, 2, 5, 9, 15  ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ข้อ 1, 2, 5
           5.  ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และ 14
           6. ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 4, 5, 6, 7 และ 25
           การกระทำความผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 โดยอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
(ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์สำนักงานอัยการสูงสุด กรณียื่นฟ้องบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ลงวันที่ 3 ก.ค.2558)

     ประเด็นการสอบสวนผู้กล่าวหา ฐานฉ้อโกง
    -  ต้องเป็นกรณีที่ผู้กล่าวหามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์มอบคดีให้ทำการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกง จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
    -  ผู้กล่าวหารู้จักหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาอย่างไร
    -  ผู้ต้องหาได้หลอกลวงผู้กล่าวหาด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง จากการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้กล่าวหาได้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิใด หรือได้ส่งมอบทรัพย์สินใดให้กับผู้ต้องหาไป หรือไม่
    -  ทราบสาเหตุที่ผู้ต้องหาฉ้อโกงทรัพย์เมื่อใด และทราบได้อย่างไร
    -  วันเวลาที่ทราบเหตุฉ้อโกง และกระทำการฉ้อโกง จะต้องระบุให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นของอายุความร้องทุกข์
    -  ผู้กล่าวหาสามารถจดจำและให้การในรายละเอียดที่เกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณของทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปได้หรือไม่ และทราบหรือไม่ว่า ในขณะนี้ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่กับผู้ใด ที่ใด ได้อย่างไร
    -  ในการกระทำผิดของผู้ต้องหานี้ มีบุคคลใดที่ทราบข้อเท็จจริงและสามารถให้การยืนยันถึงพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาได้หรือไม่
    -  ผู้ต้องหามีตำหนิรูปพรรณอย่างไร และพักอาศัยอยู่ที่ใด.