วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประเด็นคดีค้ามนุษย์ (เป็นธุระจัดหาค้าประเวณี)

           พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑
           "มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
             “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี
การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคน
ลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า
หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ"

           พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ 
           "มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
             "การค้าประเวณี หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ”
               กล่าวคือ การกระทำความผิดฐานค้าประเวณีนั้น แม้ว่าผู้ถูกกระทำชำเราหรือผู้กระทำชำเราได้สมัครใจยอมรับการกระทำ โดยไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ก็เป็นความผิดฐานค้าประเวณีได้  แต่ถ้าจะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ได้นั้น ถ้าผู้ถูกกระทำชำเรามีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะเข้าความผิดฐานค้ามนุษย์ได้นั้นผู้นั้นต้องถูกข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ฯลฯ ซึ่งหมายถึงการไม่สมัครใจนั่นเองตามมาตรา ๖ (๑) แต่ถ้าเป็นเด็กอายุยังไม่ถึง ๑๘ ปี แม้ไม่ต้องมีการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ก็เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์แล้ว ตามมาตรา ๖ (๒) ทั้งนี้ การแสวงหาประโยชน์เพื่อประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว
              "มาตรา ๙  ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด  เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร  (ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท)
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
              ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสาม แล้วแต่กรณี
              ผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามีผู้จัดหา ล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ผู้กระทำต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี"
             "มาตรา ๑๓  ถ้าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลผู้อยู่ในความปกครอง กระทำการค้าประเวณี / เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีคำขอ / ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนอำนาจปกครองของบิดามารดา หรือผู้ปกครองของผู้นั้นเสีย และแต่งตั้งผู้ปกครองแทนบิดามารดา หรือผู้ปกครองนั้น"

           พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑
           "มาตรา ๓๖  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้เสียหายระหว่างที่อยู่ในความดูแลไม่ว่าบุคคลนั้นจะพำนักอยู่ ณ ที่ใด ไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการดำเนินคดี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลในครอบครัวของผู้เสียหายด้วย
           ในกรณีที่ผู้เสียหายจะให้การหรือเบิกความเป็นพยานในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นพยานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา"

ประเด็นการสอบสวนพยานที่เป็นเด็ก
           -  จัดให้มีการคัดกรองเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามแบบสัมภาษณ์ และนำมาประกอบสำนวน
           -  ในการถามปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ให้ดำเนินการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ โดยก่อนถามปากคำให้แจ้งสิทธิให้เด็กทราบ คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ และผู้เสียหายเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่มีผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ อาจจัดหาบุคคลที่เด็กไว้วางใจหรือร้องขอให้เข้าร่วมฟังในการถามปากคำนั้นด้วย
           -  ชื่อ อายุ ที่อยู่ บิดามารดา ประวัติส่วนตัว เช่น อาชีพ รายได้ การศึกษา สถานภาพครอบครัว ใครเป็นผู้ปกครองดูแล
           -  พยานเกิดเมื่อใด มีอายุเท่าใด
           -  พยานรู้จักกับนาย...  มานานแล้วหรือไม่ อย่างไร
           -  นาย.... ชักจูงพยานมาด้วยเหตุใด พยานต้องทำอย่างไร เพื่ออะไร กับใคร ที่ไหน เมือใด ได้ทำการตกลงยินยอมรับเงื่อนไขหรือรับค่าตอบแทนในการนี้อย่างใด มีการใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญให้กระทำหรือไม่ อย่างไร
           -  นาย... เคยให้พยานกระทำแบบนี้มาแล้วกี่ครั้ง แต่ละครั้งเป็นอย่างไร
           -  พยานเคยมาสถานที่เกิดเหตุนี้แล้วกี่ครั้ง ทราบหรือไม่ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของสถานที่ เคยพบปะกับเจ้าของสถานที่หรือไม่ เจ้าของสถานที่รู้เห็นในเรื่องแบบนี้ด้วยหรือไม่
           -  นอกจากนาย.. แล้ว มีผู้ใดสมคบ โดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๖
           -  ให้ พงส. ยื่นคำร้องขอต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้มีการสืบพยานไว้ก่อนล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๓๑ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา ๒๓๗ ทวิ โดยอ้างเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
           -  ให้สอบปากคำ บิดามารดา ผู้ปกครอง บุคคลที่รู้เห็นการติดต่อระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย
           - ให้ตรวจสอบหลักฐานการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานทางการเงินและธนาคาร , บันทึกส่วนตัว , บัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อประโยชน์การพิจารณาดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒
           -  นำภาพถ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการล่อซื้อ รวมเข้าสำนวน
           -  ส่งตัวผู้เสียหายให้แพทย์ตรวจ
           -  พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๓๔
           -  ส่งตัวผู้เสียหายไปรับการคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ ใช้วิธีการคุ้มครองพยานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๕๖ และระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
           -  ฐานความผิดที่เกี่ยวข้อง คือ ฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔, ๖  เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีโดยมิชอบ เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งเด็ก
           -  พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๙  ให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว และให้ศาลนำสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาเป็นแนวทางในการพิจารณา จึงขอให้ พงส. ทำสำนวนการสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบด้วย

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

วิธีการทำสำนวนการสอบสวนให้ง่ายขึ้น

               การทำงานต่าง ๆ ก็ต้องการความสะดวกรวดเร็ว การสอบสวนก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีเคล็ดลับวิธีการทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และรู้สึกว่าทำได้ง่าย ๆ ไม่อยากเลย เพียงแต่ขอให้ทำตามวิธีการและขั้นตอน ดังต่อไปนี้
                ๑.  เรียงลำดับความสำคัญของคดี เช่น คดีที่ผู้ต้องหาผัดฟ้องฝากขัง ให้ทำเป็นอันดับแรกก่อนคดีอื่น เพราะระยะเวลาผัดฟ้อง ฝากขัง นั้นสั้นมาก และจำเป็นต้องตรวจสอบวันครบกำหนดฝากขัง อยู่เสมอ แล้วจึงทำสำนวนคดีที่ผู้ต้องหาประกันตัว ผู้ต้องหาหลบหนี และสำนวนไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามลำดับ เพราะมีระยะเวลาให้ทำการสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งมากขึ้นตามลำดับ ส่วนคดีที่ส่งพนักงานอัยการไปแล้ว เช่น สำนวนคดียาเสพติดที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีความเห็นว่าฟื้นฟูฯ ไม่ผ่าน นั้น สำนวนประเภทนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่พนักงานอัยการแล้ว เพียงแต่พนักงานสอบสวนต้องติดตามตัวผู้ต้องหาไปส่งให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อศาล สำนวนประเภทนี้พนักงานสอบสวนมักจะเก็บไว้ทำหลังสุด หรือให้ความสำคัญน้อย เว้นแต่ คดีฟื้นฟูฯ ที่มีตัวถูกควบคุมอยู่แล้ว ต้องส่งฟ้องโดยเร็วนั้น ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด        
               ๒.  เรียงลำดับความสำคัญของบุคคล เช่น ในคดีผู้ต้องหาฝากขัง คดีผู้ต้องหาฟื้นฟู คดีฟ้องวาจา ตลอดจนคดีที่เอกสารในสำนวนการสอบสวนต้องมีลายมือชื่อของผู้ต้องหา ให้รีบจัดทำเป็นอันดับแรก เพราะถ้าส่งผู้ต้องหาไปฝากขังหรือให้ประกันตัวแล้ว โอกาสที่จะให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อย่อมลำบากขึ้น และในการฝากขัง ตลอดจน พยานที่อยู่ต่างประเทศ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือที่ห่างไกล หากปล่อยให้เนิ่นช้าก็จะไม่สามารถติดตามมาสอบปากคำ หรือเป็นพยานศาล ได้ ให้รีบเร่งทำการสอบปากคำไว้ก่อน ถ้าหากเป็นคดีสำคัญก็ต้องทำหนังสือขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอสืบพยานไว้ล่วงหน้า
              ๓.  เรียงลำดับความสำคัญของเอกสาร เช่น การทำหนังสือติดต่อราชการ เพื่อขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจสอบ หรือการทำหนังสือส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ ให้รีบดำเนินการเป็นอันดับแรก เพราะการตรวจสอบและตรวจพิสูจน์ย่อมใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น  ถ้าพนักงานสอบสวนเพิ่งมาทำหนังสือและเร่งรัดขอความร่วมมือในภายหลังแล้ว อาจไม่ทันเวลา
              ๔.  ให้ความสำคัญในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เนื่องจาก สถานที่เกิดเหตุเป็นสิ่งที่จะพบวัตถุพยานต่าง ๆ ที่คนร้ายได้ทิ้งร่องรอยต่าง ๆ เอาไว้ การรีบเร่งตรวจสถานที่เกิดเหตุให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นอันดับแรก จะทำให้ทราบถึงแผนประทุษกรรมคนร้าย สามารถนำวัตถุพยานที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ไปสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดและเป็นพยานหลักฐานยืนยันการกระทำความผิดได้ โดยเฉพาะคดีจราจรทางบก แม้ว่าพนักงานสอบสวนเคยพบเห็นเส้นทางในท้องที่ของตนมาโดยละเอียด แต่การไม่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ อาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงโต๊ะทำงานได้ ดังนั้น จึงขอให้ตรวจวัดสถานที่เกิดเหตุให้ละเอียด ถ่ายภาพเอาไว้เป็นหลักฐานให้มากที่สุด ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือการสามารถนำมาใช้แทนกล้องถ่ายรูปได้หมดแล้ว และไม่ต้องกลัวเปลืองฟิล์มหรือค่าล้างฟิล์มอีกต่อไป ถ้าหากดูภาพและแผนที่ยังไม่เข้าใจก็ให้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุอีกครั้งเป็นรอบที่สอง แต่ต้องพึงระลึกไว้ว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุช้า หรือการไปตรวจสถานที่เกิดเหตุรอบที่สอง พยานหลักฐานที่เคยมีอยู่เดิมนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไป และถ้าหากเป็นคดีที่ซับซ้อนก็ให้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาร่วมตรวจที่เกิดเหตุตั้งแต่แรกด้วย
              ๕.  มีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนการสอบปากคำบุคคล เนื่องจาก การกำหนดประเด็นคำถามให้เข้าหลักกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้การสอบปากคำสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องมาคิดประเด็นคำถามหรือทบทวนว่าลืมถามประเด็นใดในขณะกำลังถามปากคำนั้นอีก เพราะถ้าไม่ได้เตรียมประเด็นคำถามมาก่อน จะทำให้เราพลาดคำถามในประเด็นที่สำคัญที่ต้องการถามไป และคงจะไม่สะดวกที่จะเรียกบุคคลมาพบเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมอีก การจะสอบปากคำบุุคคลใด ถ้าหากสามารถพิมพ์แบบฟอร์มหรือคำให้การ รวมทั้งประเด็นคำถามของผู้ให้ถ้อยคำที่ต้องการถามปากคำเอาไว้ก่อนได้จะเป็นการดีที่สุด อีกทั้งการคาดเดาถึงคำตอบที่จะได้รับ การเตรียมการไว้ล่วงหน้าจะช่วยทำให้เราสามารถกำหนดประเด็นคำถามต่อไปได้อีก