ความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา ๓๒๙ ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือการประชุม
ผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา ๓๓๑ คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๓๒ ในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
มาตรา ๓๓๓ ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ประเด็นการสอบสวนผู้กล่าวหา
๑. ผู้กล่าวหาถูกผู้ต้องหาใส่ความด้วยวิธีใด ด้วยคำว่าอะไร เป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ อย่างไร๒. มีผู้ใดเป็นผู้มาเล่าให้ฟัง ผู้กล่าวหาเคยรู้จักกับผู้ต้องหามาก่อนหรือไม่ อย่างไร
๓. เมื่อผู้กล่าวหาได้ทราบข้อความแล้ว ผู้กล่าวหาได้กระทำดั่งที่ถูกใส่ความจริงหรือไม่ และผู้กล่าวหามีความรู้สึกอย่างไร (เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง)
๔. มีผู้ใดได้ยินคำพูดหรือรับทราบข้อความดังกล่าวด้วยหรือไม่ เป็นใคร อยู่ที่ใด เมื่อผู้นั้นได้ทราบแล้วมีความรู้สึกอย่างไร
๕. การใส่ความนั้นเกิดขึ้นสถานที่แห่งใด เป็นการเปิดเผยในศาลหรือในการประชุมหรือไม่ เมื่อใด และผู้กล่าวหาได้รับทราบข้อความดังกล่าวนั้นที่ไหน เมื่อใด ทราบได้อย่างไร
๖. การใส่ความดังกล่าวนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร
๗. การใส่ความดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นด้วยหรือไม่ อย่างไร
๘. ผู้กล่าวหามีหลักฐานที่เป็นวัตถุ หรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท มาแสดงเป็นหลักฐานหรือไม่ ได้มาจากที่ไหน เมื่อใด โดยวิธีใด
๙. ผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหาได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ถูกใส่ความนั้นหรือไม่ อย่างไร
๑๐. ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และกล่าวใส่ความในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่
๑๑. ผู้กล่าวหาเห็นว่า การใส่ความดังกล่าวเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ตามวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำหรือไม่
๑๒. การใส่ความดังกล่าวเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร
๑๓. ผู้กล่าวหาประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใด
ประเด็นการสอบสวนพยาน
๑. พยานได้ยินผู้กล่าวหาถูกผู้ต้องหาใส่ความด้วยวิธีใด ด้วยคำว่าอะไร เป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ อย่างไร๒. การใส่ความนั้นเกิดขึ้นสถานที่แห่งใด เป็นการเปิดเผยในศาลหรือในการประชุมหรือไม่ เมื่อใด
๓. พยานเคยรู้จักกับผู้กล่าวหาและผู้ต้องหามาก่อนหรือไม่ อย่างไร
๔. พยานได้เล่าให้ผู้กล่าวหาได้รับทราบการถูกใส่ความที่ไหน เมื่อใด
๕. พยานได้ยินคำพูดหรือรับทราบข้อความดังกล่าวแล้ว ผู้กล่าวหาเป็นดังที่ถูกใส่ความจริงหรือไม่ พยานมีความรู้สึกอย่างไร
๖. นอกจากพยานแล้ว มีผู้ใดได้ยินคำพูดหรือรับทราบข้อความดังกล่าวด้วยหรือไม่ เป็นใคร อยู่ที่ใด เมื่อผู้นั้นได้ทราบแล้วมีความรู้สึกอย่างไร
๗. เมื่อพยานเล่าให้ผู้กล่าวหาฟังแล้ว ผู้กล่าวหามีความรู้สึกอย่างไร (เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง)
๘. การใส่ความดังกล่าวนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร๙. การใส่ความดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นด้วยหรือไม่ อย่างไร
๑๐. พยานมีหลักฐานที่เป็นวัตถุ หรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท มาแสดงเป็นหลักฐานหรือไม่ อย่างไร
๑๑. ผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหาเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ถูกใส่ความนั้นหรือไม่ อย่างไร
๑๒. ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และกล่าวใส่ความในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่
๑๓. การใส่ความดังกล่าวเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ตามวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำหรือไม่
๑๔. การใส่ความดังกล่าวเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือไม่
๑๕. ผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่ได้กระทำการอย่างที่ถูกใส่ความนั้นด้วยจริงหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นการสอบสวนผู้ต้องหา
๑. ผู้ต้องหาใส่ความผู้กล่าวหาต่อพยาน โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้กล่าวหานั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ อย่างไร๒. ผู้ต้องหาใส่ความผู้กล่าวหาด้วยคำว่าอะไร โดยเป็นคำกล่าว หรือเขียน หรือด้วยวิธีการใด เป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่
๓. ผู้ต้องหาเคยรู้จักกับผู้กล่าวหามาก่อนหรือไม่ อย่างไร
๔. ผู้ต้องหาใส่ความผู้กล่าวหาต่อผู้ใดบ้าง และผู้ต้องหากระทำไปด้วยเหตุใด มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร (เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ตามวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำ หรือเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเป็นเผยในศาลหรือในการประชุมหรือไม่)
๕. ผู้ต้องหาใส่ความผู้กล่าวหาตรงสถานที่แห่งใด เมื่อใด และทราบว่าผู้กล่าวหาได้รับทราบข้อความดังกล่าวนั้นที่ไหน เมื่อใด และทราบได้อย่างไร
๖. การใส่ความดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นด้วยหรือไม่ อย่างไร
๗. พนักงานสอบสวนให้ดูหลักฐานที่เป็นวัตถุ หรือส่วนของวัตถุของกลางแล้ว ผู้ต้องหาเป็นผู้ใส่ความตามหลักฐานดังกล่าวนี้หรือไม่ อย่างไร
๘. ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และกล่าวข้อความในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ อย่างไร
๙. ผู้ต้องหาพิสูจน์ได้หรือไม่ว่า ผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่ได้กระทำการอย่างที่ถูกใส่ความนั้นจริงหรือไม่ อย่างไร
๑๐. ผู้ต้องหาถูกจับกุมตัวได้ที่ไหน เมื่อใด