วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ประเด็นคดีฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่

กรณีแชร์ลูกโซ่และฉ้อโกงประชาชน
           1.  ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1 และ 12
           2.  ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 และ 343
           3.  ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง และดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ที่คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยดำเนินกิจการที่ไม่เป็นไปตามแผนการจ่ายตอบแทนของตนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 21, 46 และ 48
           4.  ร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5 และ 16  และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ข้อ 1, 2, 5, 9, 15  ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาต ตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ข้อ 1, 2, 5
           5.  ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และ 14
           6. ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 4, 5, 6, 7 และ 25
           การกระทำความผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นคดีความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 โดยอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
(ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์สำนักงานอัยการสูงสุด กรณียื่นฟ้องบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ลงวันที่ 3 ก.ค.2558)

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาคดีปล่อยเงินกู้และเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

คำพิพากษาด้วยวาจา                                                                                         คดีหมายเลขดำที่ 5214/2552
                                                                                                                         คดีหมายเลขแดงที่ 5222/2552
                                                                    ศาลแขวงเชียงใหม่
                                                                         ความอาญา
พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ โจทก์
นาย จ.    จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  ความผิดต่อประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 58
                โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2552  เวลาใดไม่ปรากฏชัด  จำเลยกับพวกซึ่งเป็นเยาวชนได้แยกดำเนินคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่แล้ว  ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน  กล่าวคือ  อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548  กำหนดให้กิจการการให้สินเชื่อส่วนบุคคลเฉพาะที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน อันเป็นกิจการการให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลที่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจำเลยกับพวกได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว ครั้นตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยกับพวกซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลและมิใช่สถาบันการเงินได้ร่วมกันประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลที่ต้องขออนุญาตโดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันให้นาง ม.  และบุคคลผู้มีชื่อจำนวนหลายราย  กู้ยืมเงินของจำเลยกับพวกไปโดยไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกันทั้งนี้  จำเลยกับพวกได้ร่วมกันประกอบธุรกิจดังกล่าวในทางการค้าเป็นปกติ  โดยไม่ได้ขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ภายหลังที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องแล้ว จำเลยกับพวกร่วมกันเป็นเจ้าหนี้ให้นาง ม. และให้บุคคลผู้มีชื่อเป็นลูกหนี้จำนวนหลายรายกู้ยืมเงินของจำเลยกับพวกไปและเก็บเงินกับลูกหนี้เป็นรายวัน โดยจำเลยกับพวกให้ นาง ม. และให้บุคคลผู้มีชื่อกู้ยืมเงินจำนวน 5,000 บาท ซึ่งลูกหนี้กู้ยืมจะต้องชดใช้คืนเงินต้นจำนวนคงที่และเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยวันละ 100  บาท  ถ้าเงินต้นยังคืนไม่ครบจำนวนที่กู้ยืมไป ลูกหนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ  จนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินต้นครบ  โดยจำเลยกับพวกคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราเบี้ยร้อยละ 15  ต่อปี  ตามที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  เหตุเกิดที่ตำบลตลาดขวัญ  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่
             พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3  ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58  ลงวันที่ 26 มกราคม 2515  ข้อ 516  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91  จำเลยให้การรับสารภาพเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี  มีเหตุบรรเทาโทษ  ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78  ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานร่วมกันคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  จำคุก 3 เดือน และปรับ 500 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,500  บาท  โทษจำคุกให้รอลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2930  ริบของกลาง
(ขอขอบคุณบทความจาก  ทนายคลายทุกข์  http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5121 )

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘  ลง ๒๖ ม.ค.๒๕๑๕
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๕ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ)  ลง ๒๖ ธ.ค.๒๕๕๗ 
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นคดีรับจำนำข้าว

แผนประทุษกรรม คดีทุจริตการรับจำนำข้าว
      @  ขั้นตอนขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร     มี ๓ รูปแบบ
            ๑.  การสวมสิทธิเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ได้เป็นเกษตรกรแต่อ้างสิทธิว่าเป็นเกษตรกร การสวมสิทธิเกษตรกรเกิดขึ้นได้ ๓ วิธี คือ สวมตัว สวมที่นา และสวมข้าว
            ๒.  ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตัวจริง แต่แจ้งพื้นที่ปลูกข้าวเกินความจริง เพื่อเอาสิทธิที่จะได้โควต้า
            ๓.  เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นำพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวมาขึ้นทะเบียน

     @  ขั้นตอนการการจำนำข้าว ณ จุดรับจำนำ หรือโรงสี     มี ๖ รูปแบบ
          ๑.  เกษตรกรมีข้าวไม่เต็มจำนวนมาจำนำ แต่มีนายหน้านำข้าวเปลือกนอกระบบมาสวมแทน เพราะเป็นผลจากการแจ้งพื้นที่เกินในขั้นตอนแรก แล้วแบ่งเงินกัน
          ๒.  เกษตรกรขายข้าวไปก่อน(ตกเขียว) ด้วยเหตุจำเป็นส่วนตัว ทำให้ไม่มีข้าวไปจำนำ นายหน้าจึงนำข้าวไปสวมแทน
          ๓.  จนท. ร่วมกับโรงสี ออกใบประทวนเท็จ ให้แก่บุคคลที่ถูกสวมว่าเป็นเกษตรกร 
          ๔.  โรงสีร่วมกับ จนท. โกงน้ำหนัก ความชื้น และสิ่งเจือปน (กรณีนี้เกษตรกรได้รับความเสียหายโดยตรง)
          ๕.  โรงสีกับ จนท. นำข้าวจาก ตปท. มาสวมสิทธิ
          ๖.  เปิดจุดรับจำนำอีกที่หนึ่ง เกษตรกรนำข้าวที่มาจำนำเกินสิทธิ จึงไม่มีสิทธิจำนำได้อีก แต่มีการออกใบประทวนให้อีกที่หนึ่งให้แทน

   @  ขั้นตอนเก็บข้าวไว้ที่โรงสี      มี ๓ รูปแบบ
         ๑.  สถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน กรณีนี้ จนท.ต้องตรวจสภาพความพร้อมก่อนเข้าโครงการ ถ้าสถานที่เก็บไม่ดีก็ทำให้ข้าวเปลือกเสียหาย เมื่อสีข้าวส่งไปเก็บโกดังกลาง ก็จะได้ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เอกสารกลับบอกว่าเป็นข้าวดีหรือมีคุณภาพ 
         ๒.  โรงสีไม่ได้แยกเก็บข้าวที่อยู่ในโครงการไว้ต่างหาก เมื่อ จนท. ไปตรวจ เจ้าของโรงสีก็แอบอ้างเอาข้าวกองอื่นว่าเป็นข้าวของโครงการ
         ๓.  โรงสีเอาข้าวของโครงการไปขายซึ่งเป็นข้าวใหม่หรือข้าวดี แล้วจะเอาข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานมาสวมแทนภายหลัง ทำให้เมื่อไปตรวจแล้วมีข้าวไม่ครบ

   @  ขั้นตอนการส่งมอบและเก็บรักษาข้าวในโกดังกลาง  (ในขั้นตอนนี้  อคส. หรือ อตก. จะมีคำสั่งให้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร มีการแยกส่งต้นข้าว หรือปลายข้าวไปยังโกดังกลาง)   มี ๗ รูปแบบ
         ๑.  นำข้าวสารที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานส่งเก็บไว้ในโกดังกลาง เนื่องมาจาก โกดังที่เก็บมาก่อนไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
         ๒.  นำข้าวสารผิดประเภทส่งเก็บ เช่น บอกว่าเป็นข้าว ๕% แต่ปรากฏว่า ในกระสอบกลายเป็นปลายข้าว ราคาจะต่างกัน
         ๓.  นำข้าวสารไม่ตรงตามจำนวนส่งเก็บ หรือไม่ครบจำนวน เช่น ทำโครงเหล็กยัดไส้ในกองข้าวสาร
         ๔.  ข้าวสารส่งเก็บมีการล็อกกุญแจ ๓ ฝ่ายแล้ว ซึ่งจะเปิดเฉพาะตอนรมยา หรือระบายข้าวออก มีการลักลอบเอาข้าวไปขาย 
         ๕.  โกดังกลางชำรุดเสียหาย ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เช่น ฝนรั่วใส่ข้าวแล้วเจ้าของโกดังไม่แจ้งแต่แรกทำให้เชื้อราลุกลามทำข้าวเสียหายทั้งกอง เซอร์เวเย่อร์อาจจะต้องรับผิดชอบ
         ๖.  การดูแลรักษาไม่ตรงตามมาตรฐาน ทั้งปริมาณและคุณภาพ
         ๗.  การระบายข้าวสารออกจากโกดังกลาง เช่น การทำข้าวสารธงฟ้าราคาถูก การจำหน่ายข้าวสารให้แก่เอกชนภายในประเทศ การจำหน่ายให้แก่เอกชน ตปท. เป็นต้น