วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประเด็นคดีบัตรอิเล็กทรอนิกส์

              พฤติการณ์ - ผู้ต้องหาสองคนลักเอาบัตรเดบิตของผู้เสียหาย ในขณะที่ผู้เสียหายทำบัตรตกหาย ไปใช้ชำระค่าสินค้า โดยมีการปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในสลิปรายการค่าสินค้าด้วย 
              ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ ในประมวลกฎหมายนี้                           
              (๑๔) “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า
                     (ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใดทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
                    (ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
                    (ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ
             ฐานความผิด  “ร่วมกัน (ม.๘๓) ลักทรัพย์ (ม.๓๓๔) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป (ม.๓๓๕(๗)) เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (ม.๑๘๘) ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (ม.๒๖๔ วรรคหนึ่ง , ๒๖๕ , ๒๖๘ วรรคสอง) มีไว้เพื่อนำออกใช้และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  (ม.๒๖๙/๕ , ๒๖๙/๖) โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดหรือใช้เบิกถอนเงินสด (ม.๒๖๙/๗)
             อัตราโทษสูงสุด   ม.๒๖๙/๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ม.๒๖๗/๕ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประเด็นคดีคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง

การสอบสวนคดีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

การสอบสวนปากคำคนต่างด้าว
มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหน เป็นคนสัญชาติใด เดินทางเข้ามาในประเทศไทยแต่เมื่อใด โดยวิธีใด ทางด้านใด พักอยู่ที่ใด มีวัตถุประสงค์อะไร มีเอกสารการเดินทางเข้าเมืองหรือไม่
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ มีผู้ใดมาติดต่อชักชวน บังคับหรือหลอกลวงให้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ หรือทราบได้อย่างไร มีญาติพี่น้อง เพื่อนหรือคนรู้จักเดินทางมาก่อนหน้านั้นหรือไม่ อย่างไร
เอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้เอกสารดังกล่าวมาอย่างไร ผู้ใดเป็นผู้เก็บเอกสารสำหรับการเดินทางของท่านหรือคนอื่น ๆ ไว้
หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะเดินทางไปพักอาศัยหรือทำงานอยู่ที่ใด
ทราบมาก่อนหรือไม่ว่าจะต้องเข้ามาพักในประเทศไทยนานเท่าใด และจะออกเดินทางไปประเทศปลายทางเมื่อใด วิธีการใด (ยานพาหนะ) และไปกับใคร (กรณีเป็นการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน)
มีค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการในการเดินทางทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยหรือไม่ เท่าใด มอบเงินให้ใคร มอบเป็นเงินสด ส่งธนาณัติ หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร เมื่อวันเวลาใด ที่ไหน มีหลักฐานการมอบ-โอน-รับเงินหรือไม่ จ่ายเงินครั้งเดียวหรือหลายครั้ง
รู้จักกับ.....(คนต่างด้าวคนอื่น ๆ) ที่ถูกจับกุมมาก่อนหรือไม่
ทราบมาก่อนหรือไม่ว่า....(คนต่างด้าวคนอื่น ๆ) เป็นคนต่างด้าวสัญชาติ......ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
รู้จักกับ.....(คนนำพาหรือคนช่วยซ่อนเร้นหรือให้ที่พักพิง) ได้อย่างไร ใครเป็นคนแนะนำ มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างไร
ก่อนที่จะถูกจับกุมพักอยู่ที่ใด ลักษณะของที่พักเป็นอย่างไร (เช่น เป็นร้านค้า โรงงาน บ้านพักอาศัย และสถานที่ดังกล่าวนั้นมีลักษณะปกปิดอำพราง มีรั้วรอบขอบชิดหรือมีลักษณะเป็นที่หลบซ่อนหรือไม่) ถูกกักขังหรือถูกทำร้ายร่างกาย หรือไม่
มีการติดต่อสื่อสารกับผู้ใดบ้าง เป็นภาษาอะไร โดยวิธีการใด อย่างไร
มีข้อตกลงหรือกฎเกณฑ์การปฏิบัติในการลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือการหลบซ่อนตัว หรือการพักอาศัยอย่างไร (เช่น ห้ามออกนอกบ้าน ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือวิธีปฏิบัติเมื่อพบด่านตรวจ จุดตรวจ หรือเจ้าหน้าที่เป็นต้น)
กรณีที่มีการจับกุมผู้ที่นำพาผู้ให้ที่พักพิงซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าว ให้พนักงานสอบสวนสั่งเจ้าหน้าที่เทคนิคของหน่วยตรวจสอบการใช้โทรศัพท์มือถือของบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า มีการติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างไร หรือส่งโทรศัพท์มือถือดังกล่าวไปตรวจสอบที่ บก.สส.ภ.5

(ที่มา : หนังสือ ภ.5 ที่ ตช 0020.173/53 ลง 6 ม.ค.2559)