วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นคดีรับจำนำข้าว

แผนประทุษกรรม คดีทุจริตการรับจำนำข้าว
      @  ขั้นตอนขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร     มี ๓ รูปแบบ
            ๑.  การสวมสิทธิเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่ได้เป็นเกษตรกรแต่อ้างสิทธิว่าเป็นเกษตรกร การสวมสิทธิเกษตรกรเกิดขึ้นได้ ๓ วิธี คือ สวมตัว สวมที่นา และสวมข้าว
            ๒.  ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตัวจริง แต่แจ้งพื้นที่ปลูกข้าวเกินความจริง เพื่อเอาสิทธิที่จะได้โควต้า
            ๓.  เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นำพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกข้าวมาขึ้นทะเบียน

     @  ขั้นตอนการการจำนำข้าว ณ จุดรับจำนำ หรือโรงสี     มี ๖ รูปแบบ
          ๑.  เกษตรกรมีข้าวไม่เต็มจำนวนมาจำนำ แต่มีนายหน้านำข้าวเปลือกนอกระบบมาสวมแทน เพราะเป็นผลจากการแจ้งพื้นที่เกินในขั้นตอนแรก แล้วแบ่งเงินกัน
          ๒.  เกษตรกรขายข้าวไปก่อน(ตกเขียว) ด้วยเหตุจำเป็นส่วนตัว ทำให้ไม่มีข้าวไปจำนำ นายหน้าจึงนำข้าวไปสวมแทน
          ๓.  จนท. ร่วมกับโรงสี ออกใบประทวนเท็จ ให้แก่บุคคลที่ถูกสวมว่าเป็นเกษตรกร 
          ๔.  โรงสีร่วมกับ จนท. โกงน้ำหนัก ความชื้น และสิ่งเจือปน (กรณีนี้เกษตรกรได้รับความเสียหายโดยตรง)
          ๕.  โรงสีกับ จนท. นำข้าวจาก ตปท. มาสวมสิทธิ
          ๖.  เปิดจุดรับจำนำอีกที่หนึ่ง เกษตรกรนำข้าวที่มาจำนำเกินสิทธิ จึงไม่มีสิทธิจำนำได้อีก แต่มีการออกใบประทวนให้อีกที่หนึ่งให้แทน

   @  ขั้นตอนเก็บข้าวไว้ที่โรงสี      มี ๓ รูปแบบ
         ๑.  สถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน กรณีนี้ จนท.ต้องตรวจสภาพความพร้อมก่อนเข้าโครงการ ถ้าสถานที่เก็บไม่ดีก็ทำให้ข้าวเปลือกเสียหาย เมื่อสีข้าวส่งไปเก็บโกดังกลาง ก็จะได้ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่เอกสารกลับบอกว่าเป็นข้าวดีหรือมีคุณภาพ 
         ๒.  โรงสีไม่ได้แยกเก็บข้าวที่อยู่ในโครงการไว้ต่างหาก เมื่อ จนท. ไปตรวจ เจ้าของโรงสีก็แอบอ้างเอาข้าวกองอื่นว่าเป็นข้าวของโครงการ
         ๓.  โรงสีเอาข้าวของโครงการไปขายซึ่งเป็นข้าวใหม่หรือข้าวดี แล้วจะเอาข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานมาสวมแทนภายหลัง ทำให้เมื่อไปตรวจแล้วมีข้าวไม่ครบ

   @  ขั้นตอนการส่งมอบและเก็บรักษาข้าวในโกดังกลาง  (ในขั้นตอนนี้  อคส. หรือ อตก. จะมีคำสั่งให้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร มีการแยกส่งต้นข้าว หรือปลายข้าวไปยังโกดังกลาง)   มี ๗ รูปแบบ
         ๑.  นำข้าวสารที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานส่งเก็บไว้ในโกดังกลาง เนื่องมาจาก โกดังที่เก็บมาก่อนไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
         ๒.  นำข้าวสารผิดประเภทส่งเก็บ เช่น บอกว่าเป็นข้าว ๕% แต่ปรากฏว่า ในกระสอบกลายเป็นปลายข้าว ราคาจะต่างกัน
         ๓.  นำข้าวสารไม่ตรงตามจำนวนส่งเก็บ หรือไม่ครบจำนวน เช่น ทำโครงเหล็กยัดไส้ในกองข้าวสาร
         ๔.  ข้าวสารส่งเก็บมีการล็อกกุญแจ ๓ ฝ่ายแล้ว ซึ่งจะเปิดเฉพาะตอนรมยา หรือระบายข้าวออก มีการลักลอบเอาข้าวไปขาย 
         ๕.  โกดังกลางชำรุดเสียหาย ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เช่น ฝนรั่วใส่ข้าวแล้วเจ้าของโกดังไม่แจ้งแต่แรกทำให้เชื้อราลุกลามทำข้าวเสียหายทั้งกอง เซอร์เวเย่อร์อาจจะต้องรับผิดชอบ
         ๖.  การดูแลรักษาไม่ตรงตามมาตรฐาน ทั้งปริมาณและคุณภาพ
         ๗.  การระบายข้าวสารออกจากโกดังกลาง เช่น การทำข้าวสารธงฟ้าราคาถูก การจำหน่ายข้าวสารให้แก่เอกชนภายในประเทศ การจำหน่ายให้แก่เอกชน ตปท. เป็นต้น  


รูปแบบที่พบในขณะนี้  - คือ ไม่ผิดในเชิงปริมาณ แต่ผิดในเชิงคุณภาพ (ฐานฉ้อโกง)  ได้แก่  
         ๑.  กำหนดให้เอาข้าวหอมมะลิมาเก็บไว้ในโกดังกลาง แต่นำข้าวชนิดอื่นที่มีคุณภาพต่ำกว่า ราคาต่ำกว่า มาสวมไว้แทน
         ๒.  ข้าวชนิดตรงตามที่กำหนด แต่คุณภาพของข้าวไม่ได้มาตรฐาน เช่น เปอร์เซ็นต์ของเมล็ดข้าว มีข้าวหักจำนวนมาก 
         ๓.  ชนิดข้าวตรงตามกำหนด แต่เป็นข้าวเน่าเสีย หรือล่วงเลยเวลาเก็บ กรณีนี้ต้องวิเคราะห์ว่า เน่าเสียเกินกว่าเวลาที่เก็บโดยผิดปกติธรรมชาติหรือไม่ เพราะอาจเอาข้าวที่เก่าเก็บไว้นาน หรือเป็นข้าวที่ผลิตก่อนปีที่รับจำนำมาสวมแทน

ขั้นตอนการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนเริ่มสอบสวนในขั้นตอนการส่งมอบและเก็บรักษาข้าวในโกดังกลาง เป็นหลักก่อนแล้ว ย้อนหลังไปถึงขั้นตอนการเก็บข้าวไว้ที่โรงสีแล้วสีข้าวมาส่งโกดังกลาง ขั้นตอนการการจำนำข้าว ณ จุดรับจำนำหรือโรงสี  หรือขั้นตอนขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร ได้เพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญในการรวบรวมพยานหลักฐานของ พงส. ที่จะพิสูจน์ทราบการกระทำผิดว่า จะมีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง โดยเริ่มต้นจากผลการตรวจวิเคราะห์ และการรับคำร้องทุกข์ และเป็นเรื่องต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะรัฐต้องจ่ายค่าดูแลรักษาจำนวนมากและคิดเป็นรายวัน กองปราบปรามไม่สามารถจะดำเนินการได้ทัน จึงได้มอบให้แต่ละท้องที่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมี ผบก.เป็น หน.พงส. ในจังหวัด และ พงส. ในแต่ละ สน. สภ. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีภาค และ ตร. กำกับดูแล

สาระสำคัญในคำสั่ง ตร.ที่ ๑๒๖/๒๕๕๘ ลง ๕ มี.ค.๒๕๕๘ 
เรื่อง แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ข้อ ๓ พนักงานสืบสวนสอบสวน  มีดังนี้
         ข้อ ๓.๖ ตำรวจภูธรภาค ๕
              (๑)  “.....ผบก.ภ.จว.พะเยา... เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนภายในเขตท้องที่รับผิดชอบของตน
              (๒)  พนักงานสืบสวนสอบสวน ปรากฏรายชื่อตาม ผนวก ฉ แนบท้ายคำสั่ง
         มอบหมายให้ ผบช.ภ.๕ เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนคดีในภาพรวมให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
         ข้อ ๓.๑๑ อำนาจหน้าที่
             (๑)  ให้เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ ฯลฯ
             (๒)  รับโอนคดีความผิด ฯลฯ
             (๓)  หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนตามข้อ ๓.๒ ถึงข้อ ๓.๑๐ ของคำสั่งนี้ มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและหรือข้าราชการตำรวจในสังกัดมาร่วมทำการสืบสวนสอบสวนคดีในเขตท้องที่รับผิดชอบของตนได้ ... โดยให้รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบในทันที
             อนึ่ง ในการสอบสวนให้พนักงานสืบสวนสอบสวนพึงระมัดระวังเรื่องอำนาจการสอบสวน โดยต้องมีพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจทำการสอบสวนร่วมในการสอบสวนด้วยทุกครั้ง

ฐานความผิดกรณีข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 
             กรณีก่อนข้าวเข้าคลัง เป็นความผิดฐานฉ้อโกง, ประกอบการงานในวิชาชีพทำคำรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ (ม.๒๖๙) เจ้าพนักงานทำคำรับรองอันเป็นเท็จ (ม.๑๖๒) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ม.๑๕๗) เรียก รับผลประโยชน์ (ม.๑๔๙) และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกระทำความผิดด้วยอาจจะต้องแยกส่งไป ปปท. หรือ ปปช. ในส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงาน ผิดฐานสนับสนุนฯ (ม.๘๖)
              กรณีหลังจากนำข้าวเข้าคลัง เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ , เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ (ม.๑๔๗) ฯลฯ แล้วแต่กรณีที่ตรวจพบ
              สัญญาเช่าคลังสินค้า ผู้รับผิดชอบ คือ
              (๑)  เจ้าของคลังสินค้า หากความเสียหายเกิดจากสภาพคลังสินค้า
              (๒)  ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร หากพบว่าเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้นั้น
 
ประเด็นการสอบปากคำ อคส. ผู้รับมอบอำนาจผู้กล่าวหา
ถาม   ภาพรวมความเป็นมาของโครงการรับจำนำข้าวเป็นอย่างไร
ถาม   อคส. เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวครั้งแรกเมื่อใดและอย่างไร
ถาม   ขอทราบภาพรวมหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าว
- โครงการปี 2551 เป็นอย่างไร
- โครงการปี 2552 เป็นอย่างไร
ถาม   กรณี อคส. ได้รับมอบหมายให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษมีรายละเอียดความเป็นมาอย่างไรโดยละเอียด
ถาม   กรณีโกดังหรือคลังสินค้าซึ่งตรวจพบว่ามีการกระทำผิดขอทราบมีการดำเนินการตรวจสอบโดยใคร เมื่อใดและผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร
ถาม   สัญญาการเก็บรักษาข้าวที่โกดังระหว่างใครกับใคร มีรายละเอียดตามสัญญาอย่างไร โดยสังเขป
ถาม   กรณีโกดังหรือคลังสินค้าเก็บข้าวโครงการใดและการตรวจพบความผิดเป็นกรณีความผิดลักษณะใด ข้าวที่ตรวจพบว่าเป็นกรณีความผิดจำนวนเท่าใด มูลค่าความเสียหายเท่าใด และเป็นข้าวที่ส่งมาจากโรงสีหรือจุดรับจำนำใดบ้าง
ถาม   ข้าวที่ตรวจพบความผิดปกติสัญลักษณ์กระสอบระบุว่าส่งมาจากโรงสีได้บ้าง จำนวนเท่าใด
ถาม   กรณีโกดังหรือคลังสินค้ามีใครหรือหน่วยงานใดที่เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจรับข้าวก่อนเข้าเก็บ มีรายละเอียดการดำเนินการอย่างไร และใคร หรือหน่วยงานใดที่เป็น ผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาระหว่างเก็บและมีรายละเอียดการดำเนินการอย่างไร
ถาม   ก่อนที่จะมีการตรวจพบกรณีความผิดดังกล่าว เคยมีหน่วยงานใดเข้าทำการตรวจสอบทั้งปริมาณและหรือคุณภาพข้าวหรือไม่อย่างไร
ถาม   การตรวจพบความผิดดังกล่าวอยู่ภายในความรับผิดชอบของใครหรือหน่วยงานใด
ถาม   ขอทราบอำนาจหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบในการตรวจสอบข้าวก่อนเข้าคลังเก็บและของผู้รับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพข้าวระหว่างเก็บในโกดังเป็นอย่างไร โดยคำสั่งใด
ถาม   ในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มีการดำเนินการในทางแพ่งกับผู้ใดบ้างหรือไม่อย่างไร
ถาม   หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเซอเวเยอร์เข้ามารับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวเป็นอย่างไร
ถาม   ขอทราบระเบียบหลักเกณฑ์ในการถือกุญแจ 3 ฝ่ายเป็นอย่างไรด้วย คำสั่งใด และผู้ถือกุญแจมีอำนาจและหน้าที่อย่างไร
ถาม   กรณีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวระหว่างการเก็บมีรอบการตรวจสอบอย่างไรโดยหน่วยงานใด ที่ผ่านมา อคส. เคยได้รับรายงานความผิดปกติของโกดัง หรือคลังสินค้า มาก่อนหรือไม่
ถาม   โกดัง หรือคลังสินค้า ที่ตรวจพบความผิดมีใครหรือหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง
ถาม   โกดัง หรือคลังสินค้า ที่ตรวจพบความผิดก่อนหน้านี้เคยมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีมาก่อนหรือไม่อย่างไร
ถาม   ขอรับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวของโกดังหรือคลังสินค้า รายงานผลการตรวจปริมาณและคุณภาพข้าวของโกดัง ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวที่เก็บจากโกดัง คำสั่ง คสช. และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวในโครงการ
             เอกสารประกอบ
             1.  หนังสือมอบอำนาจ
             2.  เอกสารการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ระเบียบ คำสั่ง
             3.  สัญญาจ้างบริษัท surveyor
             4.  บัญชีข้าวรวม บัญชีข้าวที่มีปัญหา
             5.  ผังกองข้าว. จุดกองข้าวที่มีปัญหา
             6.  คำสั่ง คสช. เกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด
             7.  รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 100 ชุด และเอกสารที่เกี่ยวข้อง แผนที่ภาพถ่ายโกดัง ภาพถ่ายกองข้าว
             8.  เอกสารบันทึกการเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อตรวจสอบ เอกสารการส่งข้าวตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าว
             9.  คำสั่งมอบหมายผู้รับผิดชอบการตรวจรับข้าวก่อนนำเข้าเก็บและมอบหมายผู้รับผิดชอบการดูแลรักษาปริมาณและคุณภาพข้าวตลอดเวลาที่เก็บ

การสอบปากคำนิติกรหรือผู้ได้รับมอบหมาย
              กรณีเป็นให้รายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีการขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวของแต่ละโครงการ
ถาม   กรมการค้าภายในเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างไรในฐานะอะไร ตามคำสั่งของใคร
ถาม   ขอทราบหลักเกณฑ์และวิธีการละเมินการโครงการรับจำนำข้าวปี 2551 ถึง 2557 มีรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการอย่างไรโดยละเอียด
ถาม   อำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวก่อนเข้าเก็บยังโกดัง อำนาจหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเก็บรักษาดูแลปริมาณและคุณภาพข้าวที่อยู่ระหว่างการเก็บในโกดัง เป็นอย่างไร ตามคำสั่งใด
             เอกสารประกอบ
             1. หลักเกณฑ์ ระเบียบ คำสั่ง บันทึกการประชุมที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปี 51 ถึง 57
             2. มติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

ประเด็นการสอบสวน ตัวแทนโรงสี
             กรณีเป็นผู้ที่สีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งเก็บเข้าโกดัง (เฉพาะที่จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหา)
ถาม   โรงสีหรือจุดรับจำนำ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือประกอบกิจการในลักษณะใดประกอบกิจการมานานเท่าใด มีสาขาอยู่ที่ใดอีกหรือไม่
ถาม   เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมาแล้วจำนวนกี่ครั้งโครงการใดบ้าง
ถาม   กรณีเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวปี... ที่ท่านมีการรับจำนำข้าวเปลือกและสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเก็บที่โกดัง ขอทราบเป็นโครงการรับจำนำข้าวชนิดใดและโรงสีท่านได้รับจำนำไว้ในโครงการดังกล่าวเป็นข้าวเปลือกรวมทั้งสิ้นเท่าใด
ถาม   มีการสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งเก็บยังโกดังเป็นชนิดใดบ้างแต่ละชนิดจำนวนเท่าใดมีเอกสารประกอบการสีแปรและส่งข้าวเข้าเก็บโกดังหรือไม่ อย่างไร
ถาม   เมื่อวันที่... คณะกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวชุดที่... ได้เข้าทำการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว พบว่ามีข้าวที่โกดังไม่ตรงตามชนิดจำนวนขอทราบว่ากรณีดังกล่าวท่านจะให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร (ก็มีข้าวผิดชนิด แต่กระสอบระบุว่ามาจากโรงสีท่านจะอธิบายอย่างไร)
ถาม   การเข้าตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวของคณะกรรมการตรวจสอบชุดที่... ท่านได้รับแจ้งและเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบหรือไม่ อย่างไร
             เอกสารประกอบ
             1.  บัญชีแสดงวัน เดือน ปี และปริมาณ ชนิดข้าวที่สีแปรส่งเก็บเข้าโกดัง
             2. เอกสารแสดงชนิดข้าวเปลือกที่รับจำนำจากเกษตรกร
             3. คำสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร

ประเด็นการสอบสวน หัวหน้าคลังสินค้า/หัวหน้าโกดังที่เกิดเหตุ
ถาม   กรณีโครงการรับจำนำข้าว ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใด
ถาม   อำนาจหน้าที่ของท่านในการตรวจสอบข้าวก่อนเก็บเข้าคลังและการเก็บและรักษาข้าวระหว่างการเก็บในโกดังเป็นอย่างไร
ถาม   การถือกุญแจโกดังจำนวน 3 ดอก มีการมอบหมายผู้ใดบ้าง ตามคำสั่งใด และผู้ถือกุญแจมีหน้าที่อย่างไร
ถาม   มีการตรวจคุณภาพและปริมาณข้าวระหว่างเก็บรักษาในโกดังอย่างไร
ถาม   กรณีคณะกรรมการชุดที่... เข้าทำการตรวจปริมาณและคุณภาพข้าวที่โกดังเมื่อวันที่... ท่านได้เข้าร่วมในการตรวจหรือไม่อย่างไร ผลการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นอย่างไร
ถาม   ก่อนหน้าที่คณะกรรมการชุดที่... จะเข้ากับการตรวจสอบ เคยมีเจ้าหน้าที่ชุดใดเข้าทำการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวที่โกดังมาก่อนหรือไม่ จำนวนกี่ครั้ง และผลเป็นอย่างไร พร้อมเอกสารประกอบ
            เอกสารประกอบ
            1.  คำสั่งแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว
            2.  เอกสารประกอบการตรวจสอบข้าวสารที่ส่งมาจากโรงสีก่อนเข้าเก็บยังโกดังหรือคลังสินค้า
            3.  เอกสารการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวที่เก็บรักษาในโกดัง ตลอดระยะเวลาการเก็บตามสัญญา
            4.  เอกสารการมอบหมายให้เป็นผู้ถือกุญแจโกดัง
            5.  สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหนังสือรับรองสถานภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ประเด็นการสอบสวน ผู้แทนจังหวัดที่มีหน้าที่ถือกุญแจโกดังกลาง
ถาม   ท่านเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวอย่างไร
ถาม   ท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใดกรณีการเก็บรักษาข้าวที่โกดัง ตามคำสั่งใด
ถาม   ระหว่างที่ท่านได้รับมอบหมาย ในส่วนของกุญแจที่ท่านรับผิดชอบ เคยมอบให้บุคคลอื่นไว้หรือไม่ อย่างไร และระหว่างที่ท่านได้รับมอบหมายให้ถือกุญแจมีการประสานเพื่อทำการเปิดโกดังจำนวนกี่ครั้ง และแต่ละครั้งการเปิดโกดังเพื่ออะไรมีเอกสารหลักฐาน การดำเนินการหรือไม่อย่างไร
ถาม   การเข้าทำการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของคณะกรรมการชุดที่... เมื่อวันที่... ท่านได้เข้าร่วมทำการตรวจหรือเป็นพยานหรือไม่ อย่างไร ผลเป็นประการใด
ถาม   เคยมีการเปลี่ยนกุญแจล็อคประตูโกดังหรือไม่ อย่างไร
           เอกสารประกอบ
           1.  คำสั่งมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบถือกุญแจ
           2.  รายละเอียดการเปิดโกดังในแต่ละครั้งตลอดระยะเวลาในการเก็บรักษาข้าวตามสัญญา
           3.  สำเนาบัตรประจำตัวหรือหนังสือรับรองสถานภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

(ความรู้จาก การประชุมตรวจสอบ เร่งรัดติดตามความคืบหน้าการสอบสวนคดีตามโครงการรับจำนำข้าว เมื่อ ๑๖ มิ.ย.๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น ๒ อาคาร  ๑ ตร.)