วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประเด็นคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔


        มาตรา ๔ ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
            (๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
            (๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
            (๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
            (๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
            (๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
            เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
            มาตรา ๕  ความผิดตามมาตรา ๔ เป็นความผิดอันยอมความได้

ประเด็นการสอบสวนผู้กล่าวหา
๑. ผู้กล่าวหาจบการศึกษาระดับใด ประกอบอาชีพอะไร มาเป็นเวลานานเท่าใด
๒. ผู้กล่าวหาเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่งใด หรือไม่
๓. ผู้กล่าวหาได้รับมอบอำนาจจากผู้ใด ให้ดำเนินคดีกับผู้ใด ในฐานะนิติบุคคล และในฐานะส่วนตัว หรือไม่  
๔. ผู้กล่าวหาประสงค์มาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใด หรือไม่ อย่างไร
๕. ผู้กล่าวหาได้นำเช็ค ใบคืนเช็ค และเอกสารที่เกี่ยวข้องมามอบให้แก่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางหรือไม่ อะไรบ้าง
     - เช็คฉบับของกลาง เป็นเช็คธนาคารใด เช็คเลขที่อะไร บัญชีเลขที่อะไร สั่งจ่ายเมื่อใด สั่งจ่ายให้แก่ผู้ใด จำนวนเงินเท่าใด เป็นเช็คขีดคร่อมเพื่อเข้าบัญชีหรือไม่ ใครเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย มีใครลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสลักหลังเช็ค
     - ใบคืนเช็คของกลาง เป็นธนาคารใด ฉบับเลขที่อะไร ลงวันที่เมื่อใด
     - สัญญาซื้อขาย , ใบส่งของ , สัญญาเช่าซื้อ ฯลฯ  (ให้ปรากฏรายละเอียดข้อความสำคัญในเอกสาร)
๖. ผู้ต้องหาออกเช็คหรือเขียนเช็คฉบับของกลางให้แก่ผู้กล่าวหาที่ไหน เมื่อใด และผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนเช็คหรือลงลายมือชื่อในเช็คต่อหน้าผู้กล่าวหา หรือมีผู้ใดเห็นผู้กล่าวหาเป็นผู้ออกเช็ค หรือไม่ อย่างไร 
๗. มูลหนี้ที่ออกเช็คมาจากเรื่องอะไร เป็นเงินจำนวนเท่าใด ผู้ต้องหาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ หรือเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ 
๘. จำนวนเงินในเอกสารที่เกี่ยวข้องฉบับของกลาง  ตรงกับจำนวนเงินในเช็คหรือไม่ อย่างไร 
๙. ผู้กล่าวหาได้รับเช็คจากผู้ใด ที่ไหน เมื่อใด มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์หรือไม่ อย่างไร ผู้ต้องหาได้บอกหรือไม่ว่าเมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่ายสามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ทันที   
๑๐. ผู้กล่าวหาได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หรือโดยวิธีเรียกเก็บผ่านธนาคารใด เป็นครั้งแรกที่ไหน เมื่อใด หลังจากนั้น ได้นำเช็คฉบับเดียวกันไปเรียกเก็บเงินซ้ำอีกหรือไม่ อย่างไร
๑๑. ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อใด โดยให้เหตุผลว่าอย่างไร ผู้กล่าวหาได้รับทราบเมื่อใด
๑๒. ผู้กล่าวหารู้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดและรู้เรื่องที่ความผิดได้เกิดขึ้นเมื่อใด 
๑๓. ผู้กล่าวหาได้ติดตามทวงถามผู้ต้องหาให้ชำระหนี้หรือไม่ ผู้ต้องหาให้การว่าอย่างไร
๑๔. ขอทราบรายละเอียดและตำหนิรูปพรรณของผู้ต้องหา

ประเด็นการสอบสวนพนักงานธนาคาร
๑. ขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งและหน้าที่ของพยาน
๒. พยานเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไร ( เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี เลขที่ ... โดยทราบว่า มีผู้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ แล้วปรากฏว่า ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น )
๒. พนักงานสอบสวนให้ดูเช็คฉบับของกลางแล้ว ขอทราบว่าเป็นฉบับที่แท้จริงของธนาคารหรือไม่ เปิดบัญชีไว้ในนามของผู้ใด อยู่ที่ใด 
๓. เปิดบัญชีเมื่อใด ด้วยเงินจำนวนเท่าใด เป็นบัญชีประเภทใด บัญชีเลขที่อะไร
๔. มีเงื่อนไขการสั่งจ่ายอย่างไร มีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือไม่ จำนวนเท่าใด 
๕. ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คของกลาง มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารหรือไม่ ถ้าหากเงินในบัญชีพอจ่ายสามารถจ่ายเงินให้ตามลายมือชื่อนี้หรือไม่
๖. บัญชีปิดแล้วหรือยัง ปิดเมื่อใด ถ้ายังไม่ปิด ครั้งสุดท้ายมีเงินในบัญชีเท่าใด 
๗. เมื่อวันที่ ...  อันเป็นวันที่ผู้เสียหายได้รับเช็คของกลาง มีเงินในบัญชีเท่าใด
๘. เมื่อวันที่  ... อันเป็นวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็ค มีเงินในบัญชีเท่าใด 
๙. เมื่อวันที่ ...  อันเป็นวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน มีเงินในบัญชีเท่าใด 
๑๐. เมื่อวันที่  ... อันเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค มีเงินในบัญชีเท่าใด 
๑๑. เช็คของกลางมีผู้ใดนำมาเรียกเก็บเงินโดยวิธีใด ธนาคารสามารถจ่ายเงินให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่าอะไร 
๑๒. ธนาคารตามเช็คตั้งอยู่ที่ใด 

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประเด็นคดีปลอมเอกสาร

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

          มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้
                   (๘)  เอกสารราชการ หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
                   (๙)  เอกสารสิทธิ หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับสิทธิ             

          มาตรา ๒๕๑  ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตราหรือรอยตราของทบวงการเมือง หรือของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

          มาตรา ๒๕๒  ผู้ใดใช้ดวงตรา หรือรอยตราดังกล่าวมาในมาตรา ๒๕๑ อันเป็นดวงตรา หรือรอยตราที่ทำปลอมขึ้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

          มาตรา ๒๖๔  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                   ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

           มาตรา ๒๖๕  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท   

           มาตรา ๒๖๖  ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้
                     (๑) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
                     (๒) พินัยกรรม
                     (๓) ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้
                     (๔) ตั๋วเงิน หรือ
                     (๕) บัตรเงินฝาก           
                     ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท   

            มาตรา ๒๖๘  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
                    ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

            มาตรา ๒๖๙  ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชีหรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                   ผู้ใดโดยทุจริตใช้หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำความผิดตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน  

วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประเด็นคดีหมิ่นประมาท

ความผิดฐานหมิ่นประมาท

                มาตรา ๓๒๖  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                มาตรา ๓๒๘  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

                มาตรา ๓๒๙  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
                (๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
                (๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
                (๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
                (๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือการประชุม
                ผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

                มาตรา ๓๓๐  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
                แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

                มาตรา ๓๓๑  คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

                มาตรา ๓๓๒  ในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
                (๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
                (๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
             
                มาตรา ๓๓๓  ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
                ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

                มาตรา ๙๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ